Last updated: 13 พ.ค. 2567 | 192 จำนวนผู้เข้าชม |
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร
วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และ เทพมนตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงเฉลิมพระยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
เรื่อง "ผ้าไหมไทย" เมื่อปี พ.ศ.2513 เมื่อครั้งเสด็จฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งเสริมการทอผ้าไหมไทยขึ้น ก่อเกิดเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จนถึงปัจจุบัน
เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระปรีชาญาณ และกำลังพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทำให้ผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการ ‘สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน’ โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์
จากนโยบายดังกล่าว ได้สร้างกระแสการใส่ผ้าไทยให้คึกคักมากยิ่งขึ้น มีการประกวดผ้าทอของแต่ละจังหวัด มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย รวมทั้งจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยที่นำมาตัดเย็บให้เข้ากับยุคสมัยให้ผ้าไทยใส่แล้วเก๋ในชีวิตประจำวัน
โครงการ "บ้านเล็กในป่าใหญ่"
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่อสนับสนุนการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตร
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่’ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นที่แรกที่บ้านห้วยไม้หก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2534
ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน
1. ชื่อหมู่บ้าน บ้านเล็กในป่าใหญ่ดอยฟ้าห่มปก หมู่ที่ 15 ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ิ
2. ที่ตั้ง หมู่ที่ 15 ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดูแลรักษาป่า ตามแนวทาง “ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ” โดยราษฎรมีความเป็นอยู่แบบพอเพียงตามวิถีชีวิตของชนเผ่า
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วัตถุประสงค์สำคัญ ของการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
๑. เพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่กสิกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือในเวลาว่างจากฤดูเพาะปลูก ให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน โดยอาศัยวัสดุในท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลให้ราษฎรไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ อันอาจก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาวต่อไป นับได้ว่าเป็นการช่วยรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินของราษฎรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนชาวไทยภูเขาผู้มีอาชีพปลูกฝิ่นก็ทรงส่งเสริมให้หันไปประกอบงานฝีมือที่ชาวไทยภูเขามีความชำนาญอยู่แล้ว คือ การเป็นช่างเงินช่างทอง
๒. เพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยโบราณที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การทอผ้าแพรวา การ จักสานย่านลิเภา การทำเครื่องถมเงินและทอง การทำคร่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ต้องใช้ฝีมือ ใช้เวลา และใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก จึงหาผู้ที่จะสนใจสืบทอดวิชาเหล่านี้เป็นอาชีพได้ยากยิ่ง